บวมเบียร์ เกิดขึ้นได้จริงหรือ?

เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาหลายคนคงปาร์ตี้ ชนแก้วกันแบบจัดเต็ม แต่ทำไมหลังจากดื่มอย่างหนัก
ทำไมรู้สึกว่า บวม ๆ หรือเพียงแค่คิดไปเอง วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า ”จริงหรือหลอก ที่บอกว่า คนเราบวมเบียร์ได้”

จริงหรือหลอก?
“จริง” ที่เราสามารถ บวมเบียร์ ได้ แต่จริง ๆ คือภาวะที่ร่างกายมีการกักน้ำไว้มากเกินไป เพราะเมื่อเราดื่มเบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ก็จะทำให้ร่างกายตอบสนองกลับด้วยการกักเก็บน้ำ ทำให้เกิดภาวะตัวบวม

ซึ่งเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และน้ำตาล ก็จะยิ่งทำให้ร่างกายเกิดการกักเก็บน้ำของร่างกายมากเกินไป

ข้อมูลจาก เฟสบุ๊ค Mahidol Channel โดย ดร.วนะพร ทองโฉม

ไม่ใช่แค่บวมน้ำแต่อาจลงพุง
แอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ในเครื่องดื่มนั้น ยังมีพลังงานสะสมอยู่ด้วย ซึ่งใน 1 กรัมของแอลกอฮอล์ จะให้พลังงานอยู่ที่ 7 แคลอรี ใกล้เคียงกับพลังงานจากไขมัน ซึ่งในเบียร์ 330 ml จะมีแอลกอฮอล์ประมาณ 10-14 กรัม และคาร์โบไฮเดรตประมาณ 13 กรัม เทียบเท่าน้ำตาลประมาณเกือบ 3 ช้อนชา
จะเห็นได้ว่า เบียร์ เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ยังเป็นเครื่องดื่มที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วร่างกายไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ภายในร่างกาย และก่อให้เกิดไขมันที่หน้าท้องหรือพุง

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดไขมันในเส้นเลือดสูง ไขมันพอกตับ ตับแข็งและมะเร็งตับอีกด้วย
ข้อมูลจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article//เครื่องดื่มเพิ่มพุง/