หลายคนคงเคยได้ยินว่า ไก่สด ที่ซื้อมาก่อนนำมาปรุงอาหารไม่ต้องล้าง แต่บางกระแสก็บอกว่า ควรล้าง ตกลงเราล้างหรือไม่ล้างก่อนนำมาปรุงอาหารกันแน่
ไก่สด ที่ซื้อมาต้องล้างมั้ย?
สำหรับในต่างประเทศอย่างในอเมริกาหรือแถบตะวันตก จะไม่ให้ล้างไก่และใช้เพียงกระดาษซับ และเมื่อแยกส่วน หั่นไก่ เสร็จจะรีบล้างมืออย่างจริงจัง เพราะว่า กังวลว่าเชื้อซัลโมเนลลาจะกระจายไปกับน้ำที่ล้าง ติดตามวัตถุดิบอื่น ๆ ภาชนะหรืออุปกรณ์ที่ประกอบอาหาร อ่างล้าง หรือเสื้อผ้า
และอาหารฝั่งตะวันตกชอบกินผักสด สลัด ผลไม้สด หากนำเขียงที่เปื้อนน้ำล้างไก่ ซึ่งมีเชื้อซัลโมเนลลาอยู่ ก็จะทำให้อาหารเป็นพิษได้ และเคยมีประกาศของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของอเมริกาออกมาบอกว่า “ห้ามล้างไก่”
และที่สำคัญ ไก่สดของฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่จะทำความสะอาดมาก่อนอย่างดี และแช่แข็ง (Freeze) ทำให้ก่อนที่จะนำมาปรุงอาหารฝั่งตะวันตกจะไม่ล้างไก่
แต่บ้านเรานั้น เวลาซื้อไก่ เราจะซื้อแบบไก่สดที่ไม่ได้ผ่านการแช่แข็ง เป็นเนื้อไก่สด ๆ ที่มาจากตลาดหรือชำแหละกันสด ๆ ทางข้อมูลจาก RAMA Channel แนะนำว่าให้ควรล้างก่อน เพราะอาจจะมีเชื้อโรคที่ติดมากับเขียง มีด ที่ชำแหละ
ซึ่งการล้างก็ควรต้องระวัง แยกล้าง และระวังไม่ให้นำกระเด็นไปโดนภาชนะ หรือวัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปตามที่อื่น ๆ
ที่สำคัญที่สุด ไก่จะต้องปรุงสุกอย่างทั่วถึงผ่านความร้อนเท่านั้น ถึงทานได้ ไม่ควรกินสด หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เด็ดขาด หากเมื่อไหร่ที่ทานไก่แล้วยังมีบางส่วนไม่สุก หรือมีเลือดแดงตามข้อหรือกระดูกไก่ ก็ไม่ควรทาน เพื่อความปลอดภัย
และทุกครั้งที่ทำอาหารควรท่องไว้ว่า…
– ก่อนและหลังทำอาหารควรล้างมือทุกครั้ง
– แยกล้างวัตถุดิบ เตรียมและหั่นผักผลไม้สดก่อน แล้วค่อยเตรียมเนื้อสัตว์
– ปรุงสุกผ่านความร้อนทุกครั้ง
– อาหารที่เน่าเสียง่าย อย่าลืมนำเข้าตู้เย็นและอาหารแช่แข็งก็ไม่ควรไว้ที่อุณหภูมิห้อง
ข้อมูลจาก https://bit.ly/3FZxloR
https://themomentum.co/salmonella-health/
https://bit.ly/3VxPMa3
มารู้จักกับเชื้อซัลโมเนลลา
เชื้อซัลโมเนลลาเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ทนทานต่อความร้อนจะถูกทำลายได้ที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียล นาน 1 ชั่วโมง หรือ 60 องศาเซลเซียล นาน 15-20 นาที หรือ 100 องศาเซลเซียล นาน 1 นาที
ซึ่งอาการของผู้ที่ติดเชื้อ จะเกิดกับผู้ที่ได้รับเชื้อในปริมาณมาก อาการจะเกิดภายใน 8-48 ชั่วโมง ซึ่งจะมีไข้ ปวดท้องแบบบิด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากรุนแรงมาก ๆ เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมอง และอาจเสียชีวิตได้ และเมื่อรักษาหาย ผู้ป่วยจะเป็นพาหะนำโรคเป็นเวลานาน และสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้
การติดเชื้อส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อมากับน้ำและอาหาร
การป้องกัน
– กินอาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงผ่านความร้อน
– กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด
– ดื่มน้ำสะอาด
ข้อมูลจาก https://www.nkp-hospital.go.th/…/salmonella_spp01.pdf