ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้ที่มีรอยสัก อุดฟัน ถอนฟัน หรือท้องเสีย ไม่สามารถ บริจาคเลือด ได้

หลายคนคงมีคำถามและสงสัยว่า ทำไมคนที่สัก สักคิ้ว หรือเพิ่งทำฟัน อุดฟัน ถอนฟัน หรือแม้แต่ท้องเสีย ถึง บริจาคเลือด ไม่ได้ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนั้นด้วยกัน

เพราะอะไรผู้ที่มีรอยสัก เพิ่งทำฟัน ท้องเสีย และอีกหลายคนถึงบริจาคเลือดไม่ได้
เรามาดูกันดีกว่าใครที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ และเหตุผลคืออะไร

– ผู้ที่สักหรือเจาะผิวหนัง
จริง ๆ แล้ว หากเจาะหู เจาะผิวหนัง หรือสัก ทำโดยเครื่องมือแพทย์ที่สะอาด ปราศจากเชื้อ โดยผู้ชำนาญและเป็นเข็มหรืออุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวเฉพาะตัว ปลอดจากการติดเชื้อ และทำที่โรงพยาบาล ให้เว้นระยะให้แผลหายอักเสบจากการเจาะให้หายสนิท ก็สามารถบริจาคเลือดได้ โดยเว้นการบริจาคเลือดอย่างน้อย 7 วัน หลังจากสักหรือเจาะผิวหนัง และแผลหายสนิท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรอง บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล

หากทำที่คลินิก ให้งดบริจาคเลือดอย่างน้อย 4 เดือน
แต่หากทำโดยสถานที่มีคุณภาพความสะอาดน้อย ก็อาจจะเสี่ยง ให้งดบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ปี หลังจากสักหรือเจาะผิวหนัง
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์คัดกรอง บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลเช่นกัน

– ผู้ที่ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน
ไม่สามารถบริจาคได้ทันที แต่สามารถบริจาคได้ โดยต้องเว้นอย่างน้อย 3 วัน หลังทำฟัน เพราะการทำทันตกรรมเหล่านี้ ก่อให้เกิดบาดแผลหรืออักเสบ อาจมีภาวะติดเชื้อโรคให้กระแสเลือดได้ชั่วคราวโดยไม่มีอาการ หรือหากมีการผ่าตัดเล็ก เช่น ผ่าฟันคุด ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน หลังผ่าฟันคุด

– ผู้ที่ท้องเสีย
ควรงดบริจาคเลือด 7 วัน หลังจากหายดี เพราะผู้บริจาคจะมีอาการอ่อนเพลียจากการเสียน้ำในร่างกาย หากบริจาคจะทำให้อ่อนเพลียมากขึ้นและอาจหน้ามืดเป็นลมได้ และหากผู้ป่วยที่ได้รับเลือดจากผู้บริจาคที่ท้องเสีย ท้องร่วง อาจได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการท้องร่วงได้

– ผู้ที่ผ่าตัดใหญ่
สำหรับใครที่ผ่าตัดใหญ่ มีการใช้ยาสลบ ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง เสียเลือดเยอะ ต้องเว้นการบริจาคเลือด 6 เดือน หรือบางราย 1 ปี เพราะต้องให้ร่างกายสร้างเลือดมาทดแทน และให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายซ่อมแซมตัวเอง

– ผู้ที่ผ่าตัดเล็ก
ใครที่ผ่าตัดแล้วไม่ใช้ยาสลบ ไม่มีการช่วยหายใจ สุขภาพแข็งแรงดี เว้นการบริจาคเลือดอย่างน้อย 7 วัน หลังผ่าตัด
– ผู้บริจาคที่เคยได้รับโลหิตจากผู้บริจาคในประเทศอังกฤษหรือเคยพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2539 หรือเคยพำนักในทวีปยุโรป รวมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 – ปัจจุบัน
เพราะเป็นช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษ และประเทศในยุโรป รวมทั้งมีรายงานการติดเชื้อวัวบ้าจากการรับโลหิต จึงงดรับบริจาคเลือดถาวร

– ผู้ที่ทานยาแก้ปวด
1. ยาพาราเซตามอล ถ้าไม่มีอาการปวดหรือผิดปกติ สามารถบริจาคเลือดได้
2. ยาแอสไพริน ถ้าไม่มีอาการปวดหรือผิดปกติ ให้เว้นอย่างน้อย 3 วัน เพราะยาแอสไพริน ทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ
แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบุคลากรทางแพทย์ และพยาบาลที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองผู้บริจาคเลือด

ข้อมูลจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/th/blood_bank
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/linech3/

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้


– อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปี สุขภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะบริจาคโลหิต
– ผู้บริจาคโลหิตที่มีอายุ 17 ปี ไม่ถึง 18 ปี ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง แต่อายุ 18 ปี สามารถตัดสินใจบริจาคโลหิตได้ด้วยตนเอง
– ผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 60 – 65 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 3 เดือน ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ
– ผู้บริจาคที่มีอายุมากกว่า 65 – 70 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 6 เดือน และต้องมีการตรวจนับจำนวนของเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง ไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่
– ผู้บริจาคเลือดที่มีสุขภาพแข็งแรงและพักผ่อนเพียงพอ ไม่มีอาการอ่อนเพลียใด ๆ และสุขภาพแข็งแรง พร้อมในวันที่มาบริจาคไม่เป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ หรือท้องเสีย
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนบริจาคโลหิต
– มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป (น้ำหนัก 53 กิโลกรัมขึ้นไป กรณีบริจาค ณ หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่)
– ไม่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก
– ไม่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบ
– ไม่เป็นไข้มาลาเรียใน 3 ปี หรือเข้าไปในเขตที่มาลาเรียชุกชุมใน 1 ปี
– ไม่มีประวัติผ่าตัดใหญ่ คลอดหรือแท้งบุตรใน 6 เดือน
– สุภาพสตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
– ไม่สัก ลบรอยสัก เจาะหู หรือเจาะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายในระยะเวลา 4 เดือน
– ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์
– ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติดทุกประเภท

ข้อมูลจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/th/blood_bank
https://w2.med.cmu.ac.th/blbank/donationknowledge/